ประวัติความเป็นมา อาคารพิพิธภัณฑ์
 
  อาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพร
       เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของสมุนไพรที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตไทยมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ พึ่งพาตนเองถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ควรสืบสาน พัฒนาประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย / วิถีชีวิตสมัยใหม่ (ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
       ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพรประกอบด้วย 3  ห้องได้แก่ ห้องหมอยา , ห้องสมุนไพรตามธาตุและห้องเรียนรู้สมุนไพรไทย
ห้องหมอยา
 

       "ความหลากหลายของภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค"
        ภายในห้องหมอยาจะได้พบกับการจำลองบรรยากาศวิถีชีวิตของหมอยาพื้นบ้านที่มักใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติโดยเฉพาะรอบๆบ้าน มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้มากมายที่เป็นทั้งยาและอาหาร สามารถเลือกชมวีดีทัศน์เรื่องราวเกี่ยวกับหมอยาพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ หมอสำราญ มาฟู หรือหมอย่ำขาง บำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาด
ภาคกลาง สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
ภาคอีสาน หมอบุญ  พนมแก่น      บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคหืดหอบ
ภาคใต้ หมอสมนึก  จันทรประสูติ   บำบัดรักษาผู้ที่ได้รับพิษงู  โดยเฉพาะ งูกะปะ
 

(ภาพบรรยากาศห้องหมอยา)

ห้องสมุนไพรตามธาตุ
         รู้จักตัวเอง (ทั้งกายและใจ ) ผ่านธาตุ
         การแพทย์แผนไทยเชื่อว่าร่างกายของคนเราประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คนที่สุขภาพดี  คือคนที่มีธาตุทั้ง 4 อยู่ในภาวะสมดุล แต่ละคนจะมีธาตุใดธาตุหนึ่งเด่นออกมา เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งส่งผลให้แต่ละคนมีสุขภาพที่แตกต่างกันไป ภายในห้องนิทรรศการสามารถ จะได้พบกับกิจกรรมต่างๆ เช่น
- ตรวจสอบธาตุของตัวเอง ด้วยวงกลมวิเคราะห์สุขภาพด้วยแพทย์แผนไทย และเลือกเมนูอาหารให้เหมาะสมตามธาตุ
- ฟังเพลงตามธาตุ  สามารถเลือกรับฟังเพลงตามธาตุโดยมีให้เลือก 3 ประเภท ได้แก่เพลงไทยเดิม เพลงไทยสากล และเพลงบรรเลงสากล
- สมุนไพรตามวัย คนทุกวัยสามารถใช้สมุนไพรได้ทุกวันตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า
 

(ภาพบรรยากาศห้องสมุนไพรตามธาตุ) 

ห้องเรียนรู้สมุนไพรไทย
         สมุนไพรไทยและภูมิปัญญา คือองค์ความรู้ของบรรพบุรุษไทยเป็นต้นทุนสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยมาแต่โบราณ และวันนี้สมุนไพรได้ถูกนำมาให้เหมาะกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ทุกส่วนของพืชสมุนไพรใช้เป็นยาได้จากรากถึงดอก ภายในห้องนิทรรศการจะได้พบกับ
- ร่างกายต้นไม้ เพื่อค้นหาส่วนต่างๆ ของต้นไม้สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ ไม่ว่าจะเป็นดอก ใบ หัว ราก ผล เมล็ด เปลือก ลำต้น 
- ส่วนร้านขายยาโบราณ โดยได้จำลองร้านเจ้าคุณเป๋อ (ร้านขายยาสมุนไพรเก่าแก่ตั้งแต่สมัย ร.5 ) ซึ่งมีตู้ยาสมุนไพร ได้จัดแบ่งช่องลิ้นชักเป็นหมวดหมู่ เช่นเดียวกับการจัดกลุ่มต้นไม้ในสวนสมุนไพร คือ 20 กลุ่มอาการรักษาโรค 
ลิ้นชักด้านล่างสุด สามารถดึงออกมาเพื่อศึกษาเรียนรู้สมุนไพรในแต่ละกลุ่มอาการได้
 

(ภาพบรรยากาศห้องเรียนรู้สมุนไพร)

ห้อง E-learning
         สรรพคุณและการประยุกต์ใช้สมุนไพรในด้านต่างๆ
       ห้อง e-learning  จัดไว้เพื่อให้บริการความรู้เรื่องสมุนไพรในรูปแบบของสื่อมัลติมีเดีย เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินขณะค้นคว้าเรื่องราวของสมุนไพรในด้านต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
       จะได้พบกับ "เมืองสมุนไพร" ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ออกแบบให้คล้ายๆกับการเล่นเกมส์ สามารถบังคับตัวการ์ตูนให้เคลื่อนไหวไปยังข้อมูลแต่ละหมวดหมู่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 เรื่อง ได้แก่ 
- เจ้าฟ้านักอนุรักษ์
- สวนสมุนไพร
- บ้านรักสมุนไพร
- สปา
- สถานพยาบาล
- บ้านเกษตรกร
- ศูนย์รวมธุรกิจสุมนไพร
- ศูนย์รวมงานวิจัย
 

(ภาพบรรยากาศห้อง E - learning)