ประวัติความเป็นมา ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม

          เพื่อเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดทำสวนสมุนไพรขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2527-2528  ณ บริเวณศูนย์บำรุงรักษาและบ้านพักพนักงาน ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง บนเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ โดยรวบรวมสมุนไพรพันธุ์ต่างๆมาปลูกไว้ให้ได้มากที่สุด และได้น้อมเกล้าถวายสวนสมุนไพรแห่งนี้แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยายมบรมราชกุมารี เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย พร้อมทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามว่า "สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

       และในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยองของปตท. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2528  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงประกอบพิธีเปิดป้ายสวนสมุนไพร พร้อมกันนั้นทุกพระองค์ได้ทรงปลูกต้นจันทน์เทศไว้เป็นอนุสารณ์สัญลักษณ์อันประเสริฐ และเป็นมงคลยิ่ง ณ สวนแห่งนี้

     จวบจนวารดิถีอันเป็นสิริมงคล เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษาในปี 2548  ปตท.จึงได้จึงได้ดำเนินการพัฒนาสวนสมุนไพร ปรับปรุงอาคารเฉลิมพระเกียรติ ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสวนให้เป็นแหล่งภูมิปัญญาเอนกประสงค์ ที่มีความร่มรื่นสวยงามยิ่งขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากสวนแห่งนี้ได้อย่างมีความสุขและความสะดวกสบาย เพิ่มคุณค่าในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสมุนไพรไทย เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาทางด้านสมุนไพร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวระยองและจังหวัดใกล้เคียงที่จะสร้างเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ชุมชน สังคมไทย

     ด้วยความมุ่งมั่นในการทำนุบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องจริงจังกว่าสองทศวรรษ ปัจจุบันพืชพันธุ์ในสวนสมุนไพรในพื้นที่ทั้งสิ้น 60 ไร่ มีพันธุ์ไม้สมุนไพรถูกรวบรวมไว้กว่า 260 ชนิด สามารถจำแนกตามสรรพคุณการรักษาโรคตามคัมภีร์ตำรายาไทยโบราณออกได้เป็น 20 กลุ่ม โดยในระยะที่ผ่านมา ปตท. ได้ดำเนินการดูแลรักษา ด้วยความสมบูรณ์พร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภค เครื่องมืออุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ เพื่อให้สมดังเจตนารมณ์ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือโดยประสานงานกับหน่วยงาน สถาบัน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ขยายขอบเขตงานสู่งานรวบรวมพันธุ์งานปลูกสมุนไพร เพื่อแปรรูปและการศึกษางานทดลองแปรรูปสมุนไพร และศึกษาคุณภาพมาตรฐานของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด

     อนึ่ง ภูมิทัศน์โดยรวมในปัจจุบันได้ทำการปรับปรุง แบ่งพื้นที่ตามประโยชน์ใช้สอยให้มีความสวยงามและสามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น โดยจัดแบ่งเป็นส่วนเรียนรู้ ศึกษาทดลอง ส่วนอบรม สัมนา และส่วนทางมรดกภูมิปัญญาไทย ได้แก่ สวนสมุนไพรตามสรรพคุณทางยา อาคารพิพิธภัณฑ์ สวนป่า สวนเศรษฐกิจ เรือนพักผ่อน ประติมากรรมไทย สิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนขยายต้นไม้พันธุ์ไม้สมุนไพรต่างๆ และร้านค้าบริการ เป็นต้น เพื่อเปิดกว้างให้กับบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว หรือชุมชนในพื้นที่ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของจังหกวัดระยองอีกแห่งหนึ่ง