ประวัติความเป็นมา อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา
เปิดบริการวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. - 16.30 น.
จุดนำชมนิทรรศการในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา
Orientation
         สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "มิติใหม่ของการเรียนรู้อย่างสนุกสนานด้านสมุนไพร"
        “สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”  เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะสืบสานวิทยาการด้านสมุนไพร ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าอเนกอนันต์ และได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2528 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า “สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” 
ห้องการเดินทางของลูกยาง
       "ลูกยาง" เป็นสัญญลักษณ์ของ "หัวใจใฝ่รู้"
       "การเดินทางของลูกยาง" เป็นเรื่องของลูกยางช่างสงสัย พอหล่นจากต้นแม่แล้ว มันไม่อยากงอกกับที่ เพราะอยากรู้ว่าโลกภายนอกนั้นมีอะไร จึงตัดสินใจออกเดินทางสู่โลกกว้างและการเดินทางก็ทำให้ได้พบเพื่อนใหม่ๆและได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆมากมาย
     ลูกยางก็เหมือนกับคนที่มี “หัวใจใฝ่รู้” อยู่ตลอดเวลา  “ลูกยาง” ที่เห็นในการ์ตูน ก็คือ ลูกยางนา ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำมาปลูกไว้ในวังสวนจิตรลดา นี่คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์พันธุ์พืชและคือแรงบันดาลพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเทพฯ ในการอนุรักษ์พันธุ์พืชชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้ทรงได้รับยกย่องให้เป็น “เจ้าฟ้านักอนุรักษ์”
 

(ภาพบรรยากาศห้องการเดินทางของลูกยาง) 

ห้องเจ้าฟ้านักอนุรักษ์
 

     แนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ในการอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์
                "อนุรักษ์" คือ รักษา
                 ศึกษาวิจัย (ให้รู้คุณ - โทษ)
                 ประยุกต์ใช้ (ให้เหมาะสมกับยุคสมัย)
                 เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
                "รู้รักษา ดูแล ใช้ให้คุ้มค่า เพิ่มมูลค่า"

          กลางห้องนิทรรศการมีต้นจันทน์เทศจำลองแสดงภาพประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2528
       ด้านหนึ่งแสดง Photo gallery สะท้อนให้เห็นพระจริยวัตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หากสังเกตดูจะพบว่าเวลาท่านเสด็จไปไหน จะมีสมุดบันทึกในพระหัตถ์อยู่ตลอดเวลาและโปรดการจดบันทึกเรื่องราวความรู้หรือสิ่งต่างๆ ที่ทรงได้พบ ไม่ว่าจะจดด้วยตัวอักษรหรือวาดเป็นภาพก็ตาม จากภาพที่ประมวลมายังแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเทพฯยังทรงมีความสนพระทัยความรู้แขนงต่างๆอย่างกว้างขวาง ทั้งอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ งานศิลปะ ในการวาดภาพทรงได้แรงดลพระราชหฤทัยมาจากธรรมชาติ
      ผนังอีกด้าน จัดแสดงวีดีทัศน์ ซึ่งกล่าวถึงพระราชกระแสของสมเด็จพระเทพฯที่เคยรับสั่งว่า ในเมืองไทยเรา “ตั้งแต่ยอดภูเขาถึงใต้ท้องทะเล” มีพืชพันธุ์ต่างๆ มากมายหลายชนิดที่ควรสำรวจ เก็บข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่สร้างจิตสำนึกให้เยาวชน ทรงเน้นว่าควรใช้ “ความงาม” “ความน่าสนใจ” ของพืชชนิดนั้นๆ เป็นสิ่งสร้างสนใจใฝ่รู้และในที่สุดเยาวชนก็จะเกิดความรักความหวงแหนและอยากอนุรักษ์ ในวิดีทัศน์มี “พี่ลูกยาง” เป็นผู้พาไปชมกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและโครงการ “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” ที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ
 
   

(ภาพบรรยากาศห้องเจ้าฟ้านักอนุรักษ์)  

ห้องพลังที่ยั่งยืน เพื่อไทย
         เพื่อสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
         ห้องนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของปตท. ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จากการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ สามารถก่อให้เกิดโครงการที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่น โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ , โครงการระยองสีเขียว , โครงการสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  เป็นการต่อยอดให้เติบโต สร้างความมั่นคง เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวนำมาสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยใช้ประสบการณ์สร้างความยั่งยืน ทุกท่านเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งเล็กๆ สามารถสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้ ? ...แต่เราเชื่อว่าคุณทำได้...
 

(ภาพบรรยากาศห้องพลังที่ยั่งยืนเพื่อไทย)