กล้วยน้ำว้า
Musa sapientum L.
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ
Banana, Cultivated banana
วงศ์
MUSACEAE
ชื่ออื่นๆ
กล้วยน้ำว้าเหลือง, กล้วยใต้, กล้วยอ่อง
กลุ่ม
ไม่มี
ลักษณะทั่วไป

กล้วยน้ำว้าเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงซ้อนกันรอบต้น ผิวใบเรียบมัน ดอกออกที่ปลายยอดสีแดงหรือสีม่วงกลีบดอกสีขาว ปลีรูปไข่ค่อนข้างป้อม ปลายป้าน ด้านนอกสีแดงอมม่วงมีนวลหนา ด้านในมีสีแดงเข้ม ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง เมล็ดผิวขรุขระมีสีดำ

สรรพคุณ

ผลสุกมีสรรพคุณแก้โรคท้องผูก ความดันโลหิตสุง เจ็บคอ บำรุงผิว
ผลดิบแก้โรคท้องเสีย ต้นและใบแห้งมีสรรพคุณแก้เคล็ดขัดยอก
หัวปลีมีสรรพคุณบำรุงน้ำนม ยางจากปลีกกล้วยหรือก้านกล้วยมีสรรพคุณรักษาแผลสดและทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย
รากมีสรรพคุณ แก้ท้องเสีย เหง้ามีสรรพคุณให้รกลอกภายหลังคลอดบุตร
ดอกมีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน

น่ารู้

พืชในวงศ์กล้วย (MUSACEAE) จำแนกได้เป็น 2สกุล คือ สกุล Musa ซึ่งเป็นกล้วยที่แตกกอและพบเห็นอยู่ทั่วไป เช่นกล้วยน้ำ กล้วยหอม กล้วยตานี กล้วยป่า เป็นต้น และ สกุล Ensete ซึ่งไม่แตกกอ เช่น กล้วยผา กล้วยนวล เป็นต้น
การจำแนกชนิดของกล้วยโดยการวิเคราะห์ชุกโครโมโซม ในประเทศไทยมีกล้วยมากกว่า 300 สายพันธุ์

วิจัย

สารสกัดจากผลดิบมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร น้ำที่ค้นจากลำต้นมีฤทธิ์เพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อลาย สารสกัดจากดอก (หัวปลี) มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด